วัดมุจลินทวาปีวิหาร พระอารามหลวง หรือวัดตุยง
- วัดมุจลินทวาปีวิหาร หรือ วัดตุยง เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘
เจ้าพระยาพลเทพฯ แม่ทัพใหญ่ ขอพระบรมราชานุญาตแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมือง คือ เมืองตานี เมืองสาย เมืองยะลา เมืองรามันห์ เมืองยะหริ่ง
- พ.ศ. ๒๓๘๘ พระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองหนองจิกและได้อพยพครอบครัวคนไทยมาจำนวนหนึ่ง พร้อมกันนี้ก็ได้นิมนต์พระอาจารย์พรหม ธมฺมธีโร
ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านสมัยอยู่ยะหริ่งมาจำพรรษาที่ศาลาพักสงฆ์ท่ายะลอ ภายหลังปรากฏว่าสถานที่ดังกล่าวมีความไม่สะดวกหลายประการ เลยต้องย้ายวัดหาที่สร้างแห่งใหม่
พบเนินทรายขาวแห่งหนึ่ง มีต้นชะเมาใหญ่ปกคลุมเงียบสงัด เห็นเสือใหญ่นอนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ตำนานกล่าวว่า ต่อมาเสือตัวนั้นได้หายไป)
ท่านทั้งสองจึงถือเอานิมิตดังกล่าวเลือกเอาสถานที่นี้เป็นที่สร้างวัด ซึ่งเรียกกันว่า “วัดตุยง” ตามนามของหมู่บ้าน
- วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู เยี่ยมเยียนพสกนิกรเมืองหนองจิก ทรงประทับ ณ วัดตุยง
ทรงปฏิสันถารกับพระครูพิบูลย์สมณวัตร (พระอาจารย์นวล เทวธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาส และมีพระราชศรัทธา พระราชทานพระราชทรัพย์ ส่วนพระองค์ จำนวน ๘๐ ชั่ง
แก่พระยามุจลินทรสราภิธาน นัคโรปการสุนทรกิจ มหิศรราชภักดี (ทัด ณ สงขลา) ผู้ว่าราชการเมืองหนองจิก ดำเนินการสร้างอุโบสถแทนหลังเก่า พร้อมกันนั้นทรงเปลี่ยนนาม “วัดตุยง” เป็น "วัดมุจลินทวาปีวิหาร”
และได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์แก่วัดมุจลินทวาปีวิหารด้วย
วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาเยี่ยมวัดมุจลินทวาปีวิหาร เป็นการส่วนพระองค์
พร้อมกันนี้ได้สนทนาธรรมกับพระราชพุทธิรังษี (หลวงพ่อดำ นนฺทิโย) และทรงประทานเภสัชแด่หลวงพ่อดำ เจ้าอาวาสวัดมุจลินทวาปีวิหาร
- สิ่งศักดิ์สิทธิ์และศาสนสถานอันเป็นประวัติศาสตร์ของวัด ประกอบด้วย
๑. พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน (สิงห์หนึ่ง) ขนาดหน้าตักกว้าง ๑ เมตร ๔ นิ้ว
๒. พระเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำ แบบลังกา
๓. ศาลารูปทรงไทย ก่ออิฐถือปูน มีพระนามาภิไธยย่อ จปร. ที่หน้าจั่ว
๔. กุฏิเจ้าอาวาส เดิมเป็นกุฏิชั้นเดียว ทรงไทย ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง หลังเดียว อายุประมาณ ๑๑๐ ปี
๕. มณฑปหรือวิหารยอด สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นศาลาจตุรมุข จำลองมาจากปราสาทพระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
๖. ศาลาจตุรมุข เป็นหอพระพุทธอภัยมงคลสามัคคีซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้พระราชทานแก่ชาวปัตตานีเพื่อสักการบูชาเป็นที่พึ่งทางใจ
๗. หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อดำ นนฺทิโย ทำด้วยขี้ผึ้ง ขนาดเท่าองค์จริง เป็นองค์แรกและองค์เดียวของภาคใต้ และ ๘.อนุสรณ์เจ้าพ่อเสือ สร้างไว้เพื่อระลึกถึงอดีตตามประวัติศาสตร์ของวัด
พระสุทธิสมณวัตร หรือ พระอาจารย์วิชิต ชวนปฺญโญ เจ้าอาวาสวัดตุยง บอกวว่า วัดตุยง นอกจากเป็นศาสนสถานที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานร่วม ๒ ศตวรรษ ทั้งในแง่ศิลปะ และเรื่องราวทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นจุดศูนย์กลางการศึกษาของเหล่าผู้ครองตนอยู่ในสมณเพศ มาตั้งแต่ครั้งพระยาวิเชียรภักดีศรีสงครามกับหลวงปู่พรหม ได้ร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้นมา จนกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญแห่งหนึ่งของพุทธบริษัทในภูมิภาคนี้ โดยได้รับคัดเลือกจากกรมการศาสนา กระทรวง ศึกษาธิการให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเข้าไปศึกษาหาความรู้ คือ พิพิธภัณฑ์พระราชพุทธิรังษี ที่สร้างขึ้น เพื่อเทิดเกียรติคุณของหลวงพ่อดำ ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อดำ และเป็นที่เก็บรักษารวบรวมวัตถุโบราณอันล้ำค่าหายาก เพื่ออนุชนได้ศึกษา รู้คุณค่าในวิถีชีวิตของสังคมไทยในอดีต ประกอบด้วยประเภทต่างๆ ดังนี้ พระพุทธรูปปางต่างๆ นาฬิกาสมัยโบราณ เครื่องหีบเก็บสิ่งของโบราณ แร่ธาตุเครื่องประดับทำด้วยเงิน รูปหนังตะลุง วัตถุมงคลเกจิอาจารย์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ฯลฯ
ส่วนวัตถุมงคลขอหลวงพ่อดำนั้นเป็นที่นิยมทุกรุ่น ล่าสุดวัดได้จัดสร้างเหรียญ ๒ หน้า หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด และหลวงพ่อดำวาจาสิทธิ์ (วัดตุยง) โดยสำนักกษาปณ์ กรมธนารักษ์ เป็นผู้สร้างเหรียญเพื่อมอบเป็นที่ระลึกสำหรับผู้ร่วมทำบุญ มี ๒ แบบ คือ เหรียญในเสมา กับเหรียญใบจิก และมี ๕ เนื้อ คือ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวะโลหะ เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงรมดำ เพื่อนำปัจจัยสมทบทุนการเรียนปริญัติธรรมของวัด วัดตุยง เปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐-๑๒.๐๐ น., ๑๓.๐๐-๑๗.๐๐ น. พุทธศาสนิกชนสอบถามเส้นทางไปวัดได้ที่ โทร.๐-๗๓๔๓-๗๕๐๒ และ ๐-๗๓๔๓-๗๒๓๔ หรือดูรายเอียดประวัติของวัด รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ของวัดได้ที่ http//www.wattuyong.org